วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ไปชอปปิ้งเนื้อกัน (Portuguese for Buying Meat!)

พอย้ายมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เชื่อว่าปัญหาใหญ่ของสาวไทยทุกคนคือเรื่องคิดถึงอาหารไทย เวลาที่อยากจะซื้อเนื้อมาทำอาหารก็ต้องไปที่ร้านขายเนื้อ หรือซุปเปอร์มาเก็ตใกล้บ้าน แต่ก็มีปัญหาอีกนั่นแหละ คือไม่รู้จะบอกคนขายว่ายังไง อยากได้เนื้อส่วนไหน อะไร ยังไง วันนี้ขอนำเสนอชาร์ทในการเรียกเนื้อส่วนต่างๆ (ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่)

เนื้อหมู (Suíno / Porco)



เนื้อหมูส่วนหลักๆ ที่พบเห็นได้ตามชั้นขายเนื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านขายเนื้อ ก็จะมีดังนี้ : 
  • Suíno (ซุอินุ) / Porco (ปัวร์คุ) = เนื้อหมู
  • Costela (คอสเตล่า) = ซี่โครง
  • Lombo (ลอมบุ) = เนื้อสันนอก
  • Filé Mignon (ฟิเล่ มิญอก) = เนื้อสันใน
  • Copa (คอปะ) = เนื้อสันคอ
  • Pernil (เปอร์นิล) = เนื้อส่วนต้นขา
  • Joelho de porco (โจเอหลุ จี ปอร์คุ) = ขาหมู (บางที่เค้าตัวเป็นชิ้นๆ ขาย แต่บางที่ก็ขายเป็นขาๆ เลย)
  • Pé (แปะ) = เท้า
  • Miúdos suinos (มิอุดุส ซุอินุส) = เครื่องในหมู ส่วนมากจะไม่ค่อยมีขายตามร้านขายเนื้อเนื่องจากไม่เป็นที่นิยมรับประทาน บางที่อาจจะขายเครื่องในรวมทั้งหมด ซึ่งเราไม่สามารถเลือกได้ ขายเป็นถุงๆ หรือ บางทีอาจจะมีขายตามตลาดนัดใกล้บ้าน 
    • Coração (โคราเซา) = หัวใจ
    • Figado (ฟิกาดุ) = ตับ
    • Intestino (อิงเตสจินุ) = ไส้

เนื้อวัว (Vaca)



เนื่องจากคนบราซิลนิยมบริโภคเนื้อวัวกันเป็นหลัก จึงสามารถหาซื้อได้ง่าย และมีเนื้อหลากหลายส่วนที่ได้รับความนิยม ดังนี้
  • Vaca (วาคะ) = เนื้อวัว
  • Costela (คอสเตล่า) = ซี่โครง
  • Filé Mignon (ฟิเล่ มิญอง) = เนื้อสันใน 
  • Picanha (ปิคาญา) = เนื้อส่วนสะโพก เป็นส่วนที่ได้รับความนิยมมากสำหรับ Churrasco (BBQ สไตล์บราซิเลี่ยน)
  • Contra Filé (คองทรา ฟิเล่) = เนื้อส่วนหลัง นิยมนำมาทำอาหารและบาบีคิว
  • Musculo (มุสคุลุ) = เนื้อน่อง
หมายเหตุ : เนื่องจากฟิวส์เป็นคนไม่ทานเนื้อวัว เลยไม่สามารถอธิบายส่วนต่างๆ ของเนื้อวัวได้ละเอียด หรืออาจจะให้ข้อมูลผิดพลาดไปบ้าง ยังไงก็ขออภัยด้วยนะคะ ^^"

ไก่ (Frango)




เนื้อไก่เป็นเนื้ออีกชนิดที่ชาวบราซิเลี่ยนนำมาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย เป็นที่นิยมพอๆ กับเนื้อวัว  มีวางขายตามชั้นในซุปเปอร์มาเก็ตแทบจะทุกส่วน (ยกเว้นตับไก่ และเท้าไก่ ที่จะหายากซักหน่อย) ค่ะ
  • Frango (ฟรางกุ) = เนื้อไก่
  • Peito (เปย์ตุ) = เนื้อส่วนอก
  • Filé de peito (ฟิเล่ย์ จี เปย์ตุ) = เนื้อส่วนอกที่แล่มาทำสเต็ก
  • Sobrecoxa (โซเบรโคช่า) = เนื้อส่วนสะโพก
  • Coxa (โคช่า) = น่องไก่
  • Asa (อาสะ) = ปีกไก่
    • Tulipa (ตุลิปะ) = ปีกไก่กลาง
    • Coxinha da Asa (โคชิงญา ดา อาสะ) = ปีกไก่บน (บางคนเรียกน่องไก่เล็ก อิอิ)
  • Pé (แป่) = เท้า
  • Coração (โคราเซา) = หัวใจ
  • Figado (ฟิกาดุ) = ตับ
  • Moela (โมเอละ) = กึ๋นไก่

คำศัพท์สำหรับการสั่งออร์เดอร์

  • Moido(a) = บด
  • Picado (ปิคาดุ) = หั่น/ตัดเป็นชิ้นๆ 
  • Corta em filé (คอร์ตะ เอง ฟิเลย์) = หั่นเป็นชิ้นสเต๊ก
  • Sem péle (เซง แปลิ) = ไม่เอาหนัง


หวังว่าโพสต์นี้จะเป็นตัวช่วยให้สามารถสั่งซื้อเนื้อกับคนขายเนื้อได้ง่ายขึ้นนะคะ ... กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ว่าแล้วก็ขอตัวไปซื้อเนื้อมาทำกับข้าวก่อนนะคะ ^.^

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การรอคอยที่สิ้นสุด กับ RNE (ภาคจบ)

เคาท์เตอร์รับ RNE
หลังจากรอคอยมา 6 เดือน รอกันจนลืม เพิ่งระลึกได้ว่าน่าจะได้เวลาที่เราจะได้รับ RNE แล้วนะ เลยให้สามีเช็คผลจากเวปไซด์ ปรากฏว่าในเวปบอกแค่ว่า ยัง in process อยู่ แต่ด้วยความที่ยังติดใจสงสัยเลยขอให้สามีโทรเช็คกับ Federal Police ดูอีกที ทางเจ้าหน้าที่ก็ดี๊ ดี บอกว่าครบกำหนด 180 วัน บัตรน่าจะมาถึงแล้วนะ แต่สถานะในเวปไซด์อาจจะยังไม่ได้อัพเดต ให้เข้ามาติดต่อรับบัตรได้เลย

วันรุ่งขึ้นเลยรีบตื่นกันแต่เช้า บึ่งรถออกไปในตัวเมืองเซาเปาโล พิกัดที่ Policia Federal ไปถึงด้วยความโชคดี วันนั้นระบบดาวน์ ไม่สามารถให้บริการด้านวีซ่าและทำบัตร RNE ได้ เลยทำให้คนไม่เยอะ คิวไม่ยาว เราจึงดิ่งขึ้นไปที่ชั้นสาม ณ เคาท์เตอร์ช่องที่เขียนว่า "RETIRADA DE CEDULAS RNE" เพื่อขอรับบัตรประชาชนต่างด้าวของเรา

ยื่นใบ RNE ชั่วคราวที่เป็นกระดาษที่ได้ครอบครองมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้ คุณเจ้าหน้าที่ไป ซักครู่คุณเจ้าหน้าที่กลับมาพร้อมกับบัตร RNE สีส้มอ่อนของเรา ... ในที่สุดฉันก็ได้เธอมาครอบครอง สิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานซะที :P

ในที่สุดก็ได้ RNE ที่รอคอยมาแสนนานมาครอบครอง