วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

New Year and Brazilian Traditions

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว ทำให้หวนคิดถึงบรรยากาศของฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เมื่อสิ้นปีที่แล้ว (2013) กับครอบครัว ซึ่งปีที่แล้วถือได้ว่าเป็นปีแรกที่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่บราซิลพร้อมหนาพร้อมตากับครอบครัว ญาติๆ และเพื่อนฝูง

จำความได้ว่ากะลังท้องอยู่ น่าจะประมาณ 2-3 เดือน ท้องยังไม่ใหญ่ สังเกตุแทบไม่เห็น เลยยังพอจะได้ลัลล้าบ้าง แม้ว่าความซ่าจะต้องดรอปลงไปเพราะต้องดูแลชีวิตน้อยๆ ในท้อง ฉลอง New Year ปีที่แล้วเลยเป็นอะไรที่ประทับใจมากๆ เพราะมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต วันนี้เลยอยากมานั่งระลึกว่าการฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แบบชาวบราซิลเลี่ยนเค้า



คนบราซิลเค้าทำอะไรกันมั่งน้า สำหรับฉลองปีใหม่

  • ใส่ชุดสีขาว  (Wearing White) เป็นความเชื่อของคนบราซิลที่ว่า สีขาวเป็นเป็นสีแห่งความสงบสุข การที่เราใส่ชุดสีขาวต้อนรับปีใหม่ จะทำให้เราเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความสงบสุข (Peace) และเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) ดังนั้นแฟชั่นท้ายปีสีขาวจะมาแรง แซงทางโค้งมากๆ ว่าแล้วก็ต้องไปหาชุดสีขาวเตรียมไว้เค้าดาวท์สำหรับปีนี้ล่วงหน้าด่วนๆ

  • จุดพลุ เฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ด้วยการจุดพลุแบบอลังการงานสร้าง 

  • เริ่มต้นวันใหม่ของปีใหม่ด้วยก้าวเท้าขวา (Start new year with "right foot") นิยมก้าวเท้าเข้าบ้าน ก้าวเท้าขึ้นบันได หรือเริ่มต้นเดินด้วยเท้าข้างขวาเพื่อนำโชค รับโชคค่ะ

  • เป๋าตุง เราจะรวยกันข้ามปี (Full Pocket) ใช่ค่ะ คนบราซิลบางคนนิยมพกเงินในกระเป๋าเยอะๆ ข้ามปี เพราะถือเคล็ดว่าจะได้มีเงินตุงเต็มกระเป๋า จะร่ำรวย ล่ำซำ จะมีเงินใช้ไม่ขาดมือในปีใหม่ เพราะงั้นมีเท่าไหร่ยัดใส่เข้าไปค่ะ ทั้งกระเป๋าตังค์ กระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรระวังความปลอดภัยด้วย เพราะบราซิลก็ขึ้นชื่อเรื่องขโมยขโจรมิใช่น้อย

  • กระโดดข้ามลูกคลื่น 7 ลูกตอนเที่ยงคืน (Jump 7 Waves) หากใครที่แพลนไปฉลองปีใหม่กันที่ชายทะเล พอใกล้ๆ จะเที่ยงคืนจะเห็นผู้คนทยอยกันไปกระจุกตัวกันที่ชายหาด รอเค้าท์ดาวน์และกระโดดข้าวลูกคลื่น การกระโดดข้ามลูกคลื่น 7 ลูกนั้นเชื่อว่าจะนำพาสิ่งดีๆ โชคดีเข้ามาหาเรา เป็นความเชื่อที่สนุกมากๆ โดยเฉพาะกับกริงกะอย่างเรา แปลกใหม่ดี (นี่ขนาดปีที่แล้วท้องนะคะ โดดแบบสนุกสนานมาแล้ว ปีนี้คลอดแล้ว จะจัดเต็ม อิอิ)



เอาเป็นว่า พอจะทราบถึงการฉลองปีใหม่ของชาวบราซิลเลี่ยนกันพอประมาณแล้ว ยังไงปีนี้จะเก็บภาพบรรยากาศมาอัพเดตเพิ่มเติมให้อีกนะคะ ขอให้ทุกท่านมีความสุขในวันส่งท้ายปีเก่า (2014) ต้อนรับปีใหม่ (2015) นะคะ 


วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ไปชอปปิ้งเนื้อกัน (Portuguese for Buying Meat!)

พอย้ายมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เชื่อว่าปัญหาใหญ่ของสาวไทยทุกคนคือเรื่องคิดถึงอาหารไทย เวลาที่อยากจะซื้อเนื้อมาทำอาหารก็ต้องไปที่ร้านขายเนื้อ หรือซุปเปอร์มาเก็ตใกล้บ้าน แต่ก็มีปัญหาอีกนั่นแหละ คือไม่รู้จะบอกคนขายว่ายังไง อยากได้เนื้อส่วนไหน อะไร ยังไง วันนี้ขอนำเสนอชาร์ทในการเรียกเนื้อส่วนต่างๆ (ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่)

เนื้อหมู (Suíno / Porco)



เนื้อหมูส่วนหลักๆ ที่พบเห็นได้ตามชั้นขายเนื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านขายเนื้อ ก็จะมีดังนี้ : 
  • Suíno (ซุอินุ) / Porco (ปัวร์คุ) = เนื้อหมู
  • Costela (คอสเตล่า) = ซี่โครง
  • Lombo (ลอมบุ) = เนื้อสันนอก
  • Filé Mignon (ฟิเล่ มิญอก) = เนื้อสันใน
  • Copa (คอปะ) = เนื้อสันคอ
  • Pernil (เปอร์นิล) = เนื้อส่วนต้นขา
  • Joelho de porco (โจเอหลุ จี ปอร์คุ) = ขาหมู (บางที่เค้าตัวเป็นชิ้นๆ ขาย แต่บางที่ก็ขายเป็นขาๆ เลย)
  • Pé (แปะ) = เท้า
  • Miúdos suinos (มิอุดุส ซุอินุส) = เครื่องในหมู ส่วนมากจะไม่ค่อยมีขายตามร้านขายเนื้อเนื่องจากไม่เป็นที่นิยมรับประทาน บางที่อาจจะขายเครื่องในรวมทั้งหมด ซึ่งเราไม่สามารถเลือกได้ ขายเป็นถุงๆ หรือ บางทีอาจจะมีขายตามตลาดนัดใกล้บ้าน 
    • Coração (โคราเซา) = หัวใจ
    • Figado (ฟิกาดุ) = ตับ
    • Intestino (อิงเตสจินุ) = ไส้

เนื้อวัว (Vaca)



เนื่องจากคนบราซิลนิยมบริโภคเนื้อวัวกันเป็นหลัก จึงสามารถหาซื้อได้ง่าย และมีเนื้อหลากหลายส่วนที่ได้รับความนิยม ดังนี้
  • Vaca (วาคะ) = เนื้อวัว
  • Costela (คอสเตล่า) = ซี่โครง
  • Filé Mignon (ฟิเล่ มิญอง) = เนื้อสันใน 
  • Picanha (ปิคาญา) = เนื้อส่วนสะโพก เป็นส่วนที่ได้รับความนิยมมากสำหรับ Churrasco (BBQ สไตล์บราซิเลี่ยน)
  • Contra Filé (คองทรา ฟิเล่) = เนื้อส่วนหลัง นิยมนำมาทำอาหารและบาบีคิว
  • Musculo (มุสคุลุ) = เนื้อน่อง
หมายเหตุ : เนื่องจากฟิวส์เป็นคนไม่ทานเนื้อวัว เลยไม่สามารถอธิบายส่วนต่างๆ ของเนื้อวัวได้ละเอียด หรืออาจจะให้ข้อมูลผิดพลาดไปบ้าง ยังไงก็ขออภัยด้วยนะคะ ^^"

ไก่ (Frango)




เนื้อไก่เป็นเนื้ออีกชนิดที่ชาวบราซิเลี่ยนนำมาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย เป็นที่นิยมพอๆ กับเนื้อวัว  มีวางขายตามชั้นในซุปเปอร์มาเก็ตแทบจะทุกส่วน (ยกเว้นตับไก่ และเท้าไก่ ที่จะหายากซักหน่อย) ค่ะ
  • Frango (ฟรางกุ) = เนื้อไก่
  • Peito (เปย์ตุ) = เนื้อส่วนอก
  • Filé de peito (ฟิเล่ย์ จี เปย์ตุ) = เนื้อส่วนอกที่แล่มาทำสเต็ก
  • Sobrecoxa (โซเบรโคช่า) = เนื้อส่วนสะโพก
  • Coxa (โคช่า) = น่องไก่
  • Asa (อาสะ) = ปีกไก่
    • Tulipa (ตุลิปะ) = ปีกไก่กลาง
    • Coxinha da Asa (โคชิงญา ดา อาสะ) = ปีกไก่บน (บางคนเรียกน่องไก่เล็ก อิอิ)
  • Pé (แป่) = เท้า
  • Coração (โคราเซา) = หัวใจ
  • Figado (ฟิกาดุ) = ตับ
  • Moela (โมเอละ) = กึ๋นไก่

คำศัพท์สำหรับการสั่งออร์เดอร์

  • Moido(a) = บด
  • Picado (ปิคาดุ) = หั่น/ตัดเป็นชิ้นๆ 
  • Corta em filé (คอร์ตะ เอง ฟิเลย์) = หั่นเป็นชิ้นสเต๊ก
  • Sem péle (เซง แปลิ) = ไม่เอาหนัง


หวังว่าโพสต์นี้จะเป็นตัวช่วยให้สามารถสั่งซื้อเนื้อกับคนขายเนื้อได้ง่ายขึ้นนะคะ ... กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ว่าแล้วก็ขอตัวไปซื้อเนื้อมาทำกับข้าวก่อนนะคะ ^.^

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การรอคอยที่สิ้นสุด กับ RNE (ภาคจบ)

เคาท์เตอร์รับ RNE
หลังจากรอคอยมา 6 เดือน รอกันจนลืม เพิ่งระลึกได้ว่าน่าจะได้เวลาที่เราจะได้รับ RNE แล้วนะ เลยให้สามีเช็คผลจากเวปไซด์ ปรากฏว่าในเวปบอกแค่ว่า ยัง in process อยู่ แต่ด้วยความที่ยังติดใจสงสัยเลยขอให้สามีโทรเช็คกับ Federal Police ดูอีกที ทางเจ้าหน้าที่ก็ดี๊ ดี บอกว่าครบกำหนด 180 วัน บัตรน่าจะมาถึงแล้วนะ แต่สถานะในเวปไซด์อาจจะยังไม่ได้อัพเดต ให้เข้ามาติดต่อรับบัตรได้เลย

วันรุ่งขึ้นเลยรีบตื่นกันแต่เช้า บึ่งรถออกไปในตัวเมืองเซาเปาโล พิกัดที่ Policia Federal ไปถึงด้วยความโชคดี วันนั้นระบบดาวน์ ไม่สามารถให้บริการด้านวีซ่าและทำบัตร RNE ได้ เลยทำให้คนไม่เยอะ คิวไม่ยาว เราจึงดิ่งขึ้นไปที่ชั้นสาม ณ เคาท์เตอร์ช่องที่เขียนว่า "RETIRADA DE CEDULAS RNE" เพื่อขอรับบัตรประชาชนต่างด้าวของเรา

ยื่นใบ RNE ชั่วคราวที่เป็นกระดาษที่ได้ครอบครองมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้ คุณเจ้าหน้าที่ไป ซักครู่คุณเจ้าหน้าที่กลับมาพร้อมกับบัตร RNE สีส้มอ่อนของเรา ... ในที่สุดฉันก็ได้เธอมาครอบครอง สิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานซะที :P

ในที่สุดก็ได้ RNE ที่รอคอยมาแสนนานมาครอบครอง

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Campos do Jordão

ช่วงนี้เซาเปาโลอากาศเริ่มจะเย็นลงเรื่อยๆ ทำให้คิดถึงโกโก้ร้อนๆ Hot Chocolate กินคู่กับ Chocolate Bread อะไรประมาณนี้ ว่าแล้วเลยได้ฤกษ์ชวนสามีไป survey ดูลาดเลาที่ Campos do Jordão กันก่อนที่ไฮซีซั่นจะมาถึง เป็นการอุ่นเครื่อง

Campos do Jordão เป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเซาเปาโล อยู่บนเขา อากาศดี ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Suíça Brasileira (Brazilian Switzerland) หรือ สวิสเซอร์แลนด์แห่งบราซิล มนต์เสน่ห์ของที่นี่นอกจากจะเป็นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงฤดูหนาวแล้ว กลิ่นอายของสถาปัตยกรรมที่จำลองมาจากสวิสเซอร์แลนด์ และ เยอรมันยังเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้คอยแวะเวียนมาที่นี่เสมอๆ



การเดินทาง 

จากเซาเปาโลไปยัง Campos do Jordão นั้น สามารถนั่งรถทัวร์ไปได้ หรือว่าจะขับรถไปเองก็ได้ หากแพลนจะไปช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะเห็นคาราวานบิ๊คไบค์ขี่ขึ้นเขาไปกันแบบชิลๆ


What to do

ใครสะดวกไปแบบ one day trip แนะนำให้ไปเดินชิลๆ แถวๆ Alemao Ville จิบชอคโกแลตร้อนๆ ที่เอกลักษณ์ของเค้าจะเป็นแบบครีมข้นๆ รสชาติกลมกล่อม ไม่หวานไม่ขมจนบาดคอ และที่สำคัญควรชิมอาหารเยอรมันจากร้านอาหารละแวกนั้นด้วยค่ะ






หากใครมีเวลา แพลนจะไปพักค้างคืน ที่นั่นมีโรงแรมมากมายหลายแห่งไว้คอยบริการ ตื่นมาชมบรรยากาศดีๆ สูดอากาศบริสุทธิ์กัน พักผ่อน คลายเครียดจากงานหนักๆ ระหว่างอาทิตย์ก็ดีไปอีกแบบ

กิจกรรมแนะนำ

นอกเหนือจากชิมอาหารเยอรมัน จิบชอคโกแลตร้อนๆ (และ กิน icecream ท้าอากาศเย็นๆ) แล้ว ที่ Campos do Jordão ยังมีสถานที่และกิจกรรม Outdoor อีกหลายหลายอย่างไว้ให้เราได้เอ็นจอยกันอีกด้วย หากใครหาสถานที่ City Escape ใกล้ๆ ตัวเมืองเซาเปาโล ลองพิจารณา Campos do Jordão ไว้เป็นตัวเลือกสำหรับเสาร์-อาทิตย์ที่จะถึงนี้ดูนะคะ รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ


วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557

แช่น้ำร้อนกันที่ Rio Quente - Goiás

อากาศเริ่มเย็นลงทุกวันๆ ที่บ้านเลยหาโอกาสไปสะใภ้กริงกะไปแช่น้ำร้อนกัน ทริปนี้เราขับรถไปกัน 2 คันค่ะ จาก São Paulo ไปยัง Rio Quente - Goiás สิริรวมแล้วขับรถกันแค่ 10 ชั่วโมงเอง (นั่งรถกันตูดชาเลยทีเดียว) ล้อหมุนกันตั้งแต่ตีหาครึ่ง ถึงที่หมายปลายทางเกือบค่ำเลย

ระยะทางโดยประมาณ 800 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถประมาณ 10 ชั่วโมง


พอไปถึงที่รีสอร์ท เราพักกันที่ Hotel Giardino เป็นหนึ่งในโรงแรมในเครือของรีสอร์ท Rio Quente Resort ที่มีบ่อน้ำร้อนขึ้นชื่อของที่เมืองนี้ เอาของขึ้นไปเก็บที่ห้องพักแล้วเราก็เตรียมตัวไปแช่น้ำร้อนกันเลย ทีแรกก็แอบงงนิดหน่อยว่าทำไมถึงไม่ไปกันตอนเช้าพรุ่งนี้ แต่สามีอธิบายว่า แช่น้ำร้อนอ่ะต้องตอนอากาศเย็นๆ ถึงจะเหมาะ กลางคืนยิ่งดึกยิ่งอากาศหนาว แช่น้ำร้อนไปก็ฟินไป อะไรแบบนี้ เราก็เลยถึงบางอ้อ เก็ทละ งั้นเราก็ไปแช่น้ำร้อนกันเลย อิอิ




พอไปถึงที่รีสอร์ท Rio Quente Resort ตอนแรกนึกว่าจะไม่มีอะไร นอกจากบ่อน้ำร้อนท่ามกลางธรรมชาติ แต่ที่ไหนได้ เค้ามีทุกสิ่ง ร้านอาหารหลากหลาย ภัตราคาร สแน็คบาร์ ฟิตเนส สปา ลานกิจกรรม (คืนแรกมีเล่นบิงโกกันสนุกสนานเลย) สวนสวยๆ ให้ได้เดินเล่น และวอร์เตอร์พาร์ค หรือสวนน้ำให้ได้ใช้บริการกันช่วงกลางวัน ... ว่าแล้วพวกเราก็ดิ่งไปที่บ่อน้ำร้อนกันซะก่อน เวลาค่ำๆ แบบนี้คนเริ่มเยอะ

ที่บ่อน้ำร้อนทีแรกก็จินตนาการไว้ว่าเป็นบ่อแบบป่าดงดิบ แต่ในความเป็นจริงแล้วทางรีสอร์ทเค้าปรับแต่งบริเวณรอบๆ ให้ดูเหมือนสระว่ายน้ำ ให้คนมาแช่น้ำร้อนสะดวกสบายมากขึ้น แต่ยังคงส่วนพื้นสระเป็นหินเป็นทรายอยู่เหมือนเดิม เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติของบ่อน้ำร้อน


บ่อน้ำร้อนที่นี่มีหลายสระมาก ตำแหน่งจะลดหลั่นกันไปตามระดับ แต่ยิ่งสระน้ำร้อนอยู่ระดับสูง ความลึกและความร้อนก็จะมากขึ้น น้ำจะไหลถ่ายเทจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะฉนั้นสบายใจหายห่วงได้หากกังวลเรื่องความสะอาด 


ช่วงกลางวันหากใครกลัวจะเบื่อ หรือคิดว่ายังไม่อยากจะไปแช่น้ำร้อน แนะนำให้ไปที่ Hot Park เป็นส่วนของ Water Park ที่อยู่ภายในรีสอร์ท กว้างใหญ่อลังการมาก มีทั้งโซนสำหรับเด็กและครอบครัว โซนเครื่องเล่นผาดโผน โซนชายหาดสำหรับนอนอาบแดดชิลๆ บรรยากาศเหมือนอยู่ชายทะเล และสวนนกให้ได้เข้าชม และถ่ายรูปคู่กับนกสีสรรสวยงามแบบใกล้ชิด


นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Outdoor สำหรับใครที่สนใจ เช่น ปีนหน้าผา ไต่หน้าผา พาเรือคายัค ดำน้ำตื้น เป็นต้น น้ำใสมากกกกค่ะขอบอก


ที่รีสอร์ทแห่งนี้ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะช่วงอากาศเย็นๆ แต่ก็สามารถเดินทางมาได้ตลอดทั้งปีนะคะ เป็นอีกสถานที่หนึ่งนี่แนะนำให้หาเวลามากันให้ได้นะคะ ได้หลากหลายอารมณ์มากๆ ทั้งบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ เอาไว้แช่ผ่อนคลาย Water Park ที่กว้างใหญ่ เครื่องเล่นเยอะแยะ สวนนกให้เด็กๆ ได้เปิดหูเปิดตา และบีชจำลองสำหรับใครที่ชอบแดด แบบว่ามาที่เดียวได้ครบทุกอารมณ์เลยจริงๆ ค่ะ

ทำ RNE (Registro Nacional de Estrangeiro)

ต่อจากโพสต์ "ได้ Permanent Residency Visa แล้วค่ะ (อัพเดต)" นะคะ
http://pathaleeya.blogspot.com.br/2014/04/permanent-residency-visa.html


หลังจากทำการนัดคิวล่วงหน้า เตรียมเอกสาร ถ่ายรูป และจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเสร็จเรียบร้อย พอถึงวันนัด เราก็เช็คเอกสารอีกครั้ง เพื่อความชัวร์ และเดินทางไป Federal Police


ไปถึงเราก็แจ้ง จนท ที่เค้าท์เตอร์รับเรื่อง (ชั้น 3) เค้าก็ให้เราไปนั่งรอ พอถึงคิวเรา ก็ยื่นเอกสารให้ จนท วันนั้นพอดีเกิดปัญหานิดหน่อยคือ ฟิวส์กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มไม่ครบ แบบว่าลืมอ่ะค่ะ แต่คุณ จนท ก็ใจดี บอกไม่เป็นไร เดี๋ยวจะจัดการให้ ก็รอดตัวไปค่ะ (เนื่องจากเป็นความสะเพร่าของเราเอง ทีแรกนึกว่าจะถูกไล่ให้กลับไปเริ่มต้นใหม่หมด แถมได้ยินกิตติศัพท์กระบวนการทำงานของ จนท ที่นี่มาแบบไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ เลยกลัวจะเสียเวลาอีก หุหุ) หลังจากเสร็จกระบวนการตรวจเอกสาร เค้าก็เอาพาสปอร์ตมาคืนให้ เปิดดูก็จ๊ะเอ๋กับ PR วีซ่าที่รอมานานนนนน ตอนนี้ได้มาครอบครองอยู่ใน Passport เสียที ดีใจกันอยู่แป๊บนึง จนท เค้าก็เดินกลับมาหาพร้อมกับยื่นกระดาษมาแผ่นนึงให้ (ไม่ได้ถ่ายรูปไว้นะคะ ลืม) แล้วเค้าก็ให้เราถือกระดาษแผ่นนั้นไปนั่งรอที่หน้าห้องอีกห้องเพื่อทำการถ่ายรูปติดบัตร RNE และสแกนลายนิ้วมือ

นั่งรออยู่ไม่นาน ก็ได้ถูกเรียกตัวให้เข้าไปในห้อง (คุณ จนท ไม่ให้สามีเข้าไปอีก ใจแป้วมากค่ะทีแรก คิดอยู่ว่าแล้วตรูจะคุยกะ จนท ยังไงเนี่ย) แต่เข้าไปไม่นานก็เสร็จ คุณ จนท เค้ามีสปีดการทำงานแบบความเร็วแสง ถ่ายรูปติดบัตร แชะเดียวแบบไม่ได้ตั้งตัว คิดว่ารูปตัวเองคงหน้าตาเหวอมากมาย สแกนลายนิ้วมือก็เร็วมาก ปุ๊บปั๊บเสร็จเรียบร้อยละ แล้วก็ถูกอัญเชิญให้ออกจากห้องพร้อมกับกระดาษ 1 แผ่น ซึ่งกระดาษแผ่นนี้เป็นใบใช้แทนบัตร RNE ชั่วคราวจนกว่าเราจะได้รับ RNE ตัวจริงค่ะ



สรุปแล้ววันนี้ทุกอย่างสำเร็จผ่านไปได้ด้วยดีแบบงงๆ เร็วจนไม่ทันตั้งตัว เรียบร้อยแล้วค่ะ สำหรับกระบวนการทำ RNE ที่เหลือก็แค่รอรับตัวจริงที่เค้าจะส่งไปให้ถึงบ้าน เห็นบอกว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 180 วัน ก็อีกตั้ง 6 เดือนนู่นค่ะ รอกันต่อไป หุหุ

ได้ Permanent Residency Visa แล้วค่ะ (อัพเดต)

ไม่ได้อัพ Blog ซะนานหลายเดือนเลย เนื่องจากติดภารกิจกำลังจะเป็นว่าที่คุณแม่ แล้วก็แอบกลับไปลัลล้าที่ไทยแลนด์เดือนกว่ามา วันนี้ได้ฤกษ์เข้ามาอัพเดตผลวีซ่าที่รอมานานแสนนานเสียที

หลังจากที่ทำเรื่องยื่นขอ PR (Permanent Residency Visa) ไป เริ่มจากขั้นตอนแรกตั้งแต่เดือนกลางมีนาคม 2013 จนถึงการอัพเดตผลครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2013 มีการอัพเดตสถานะวีซ่าให้จากทางเวปไซด์ และแล้วในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง เมื่อปลายเดือนมกราคม 2014 ผลวีซ่าก็ออก และได้รับการยืนยันจากเวปไซด์ว่าดิฉันได้วีซ่ามาครอบครองแล้ว

แต่ค่ะแต่ ... แต่ว่าเรายังไม่สามารถจะทำอะไรได้ ต้องรอให้จดหมายแจ้งจากทาง... มาถึงบ้านเราซะก่อนนะคะ หน้าตามันจะเป็นแบบนี้ค่ะ



เนื่องจากระหว่างที่ได้รับจดหมายยืนยันเรื่องผลวีซ่าฉบับมาถึงบ้าน ตัวเราเองกลับไปเยี่ยมที่บ้านที่เมืองไทย เลยต้องกลับมาเคลมผลวีซ่าหลังจากกลับมาจากไทยค่ะ ... อ้อ หลังจากผลวีซ่าของเราออกแล้ว เค้าจะมีระยะเวลาให้เราไปเคลมวีซ่า ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ผลวีซ่าออกแบบเป็นทางการ (ซึ่งรายละเอียดเค้าจะแจ้งมาในจดหมายฉบับที่เราได้รับนั่นละค่ะ)

วิธีการเคลมคือไปติดต่อที่ Federal Police แล้วบอกว่าได้รับจดหมายยืนยันผลวีซ่าไปที่บ้าน แล้ว จนท เค้าจะให้ List ของเอกสารที่จะต้องใช้ยื่นทำ RNE หรือบัตรประจำตัว ของเราและแจ้งให้เราทราบว่าต้องทำการนัดคิวทางอินเตอร์เน็ตล่วงหน้า (ขั้นตอนการทำ RNE จะมาแจ้งอีกทีนะคะ ตอนนี้กะลังรอคิวค่ะ ใกล้ละ อีกไม่กี่วัน แล้วจะมาอัพเดตรายละเอียดให้อีกนะคะ)

List เอกสารที่ต้องเตรียมมาสำหรับวันที่ยื่นขอรับ พร้อมกับทำ RNE ค่ะ

หลังจากที่ได้ List เอกสารที่จำเป็นจะต้องใช้ในครั้งต่อไป ก็กลับบ้าน เพื่อไปจัดการจองคิว เตรียมเอกสาร ทั้งหมด ถ่ายรูป และจ่ายค่าธรรมเนียมตามที่เค้าระบุไว้ให้ แล้วก็รอให้ถึงวันที่เรานัดเพื่อกลับไปที่ Federal Police อีกครั้งเพื่อทำการ Claim วีซ่าที่รอมานาน และดำเนินการขอ RNE ค่ะ


List เอกสารที่ต้องเตรียมมีดังนี้นะคะ
  1. แบบฟอร์มสำหรับยื่นขอ RNE (สามารถกรอกและ print out ได้ที่ http://www.dpf.gov.br/)
  2. รูปถ่ายหน้าตรง พื้นหลังสีขาว ขนาด 3x4 จำนวน 2 รูป
  3. Passport ตัวจริง และ สำเนาทุกหน้าที่มีการใช้งาน พร้อมกับทำ certified copy
  4. เอกสารอะไรก็ได้ที่มีชื่อพ่อและแม่ของเรา (ฟิวส์ใช้ใบทะเบียนสมรสที่ได้จากบราซิลค่ะ)
  5. ปริ้นท์เอารายชื่อของเราที่ทางรัฐบาลบราซิลเค้าประกาศผลวีซ่า (เค้าจะ published ผลวีซ่าของเราที่เวปไซด์นี้ค่ะ http://portal.in.gov.br/ เราไป print มาได้เลย แล้วไฮไลท์ชื่อเราวันที่ยื่นเอกสาร)
  6. สำเนาใบ เข้า/ออก ประเทศบราซิล พร้อมทั้งทำ certified copy 
  7. ใบ Declaration (ใบนี้เราไปทำที่ Federal Police ในวันที่ยื่นเอกสารค่ะ)
  8. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรส พร้อมทั้งทำ certified copy 
  9.  ใบเสร็จการชำระค่าธรรมเนียม GRU 140120 จำนวน R$ 124,23 (ID issuance - found at http://www.dpf.gov.br/)
  10.  ใบเสร็จการชำระค่าธรรมเนียม GRU 140120 จำนวน R$ 64,58 (Data registration - found at http://www.dpf.gov.br/) 
  11. เอกสารยืนยันที่อยู่อาศัยในประเทศบราซิล เช่น บิลค่าโทรศัพท์ (ใช้ตัวจริง)


Link สำหรับทำการนัดหมายคิวที่จะขอทำ RNE ค่ะ


หมายเหตุ : Feceral Police แต่ละที่อาจจะ request เอกสาร หรือมีระบบการดำเนินการด้สนเอกสารต่างกัน อันนี้เขียนมาจากประสบการณ์ตรงของตัวฟิวส์เอง คิดว่าอาจจะเป็นประโยนช์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่ต้องการแนวทางคร่าวๆ ยังไงก็อย่าลืมไปเช็คและคุยกับ จนท ก่อนนะคะ เพื่อความถูกต้อง :)