วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทำ Carteira de Trabalho (Work Record Book)

My Passport and Carteira de Trabalho 
       Carteira de Trabalho  (คาร์-เต-ร่า-จี-ตระ-บา-หลุ) คือสมุดบันทึกการทำงาน กล่าวคือ การทำงานในปรเทศบราซิลแบบถูกกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำงานประจำ หรืองานพาร์ทไทม์ตามกฎหมายประเทศบราซิล เราจะต้องมี Carteira de Trabalho จึงจะสามารถทำงานได้ และเอกสารฉบับนี้เป็นหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของเราด้วยเช่นกัน
       Carteira de Trabalho จะเป็นสมุดเล่มสีน้ำเงิน ขนาดพอๆ กับพาสปอร์ต (จะใหญ่กว่านิดนึง) ส่วนด้านในจะมีไว้สำหรับบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่เราทำ ว่าเราทำงานที่ไหน ที่อยู่ที่ทำงาน ใครเป็นนายจ้าง ทำงานในตำแหน่งอะไร ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ เป็นรายเดือน หรือรายชั่วโมง บลา บลา บลา

       สำหรับคนที่มาอยู่บราซิล แล้วแพลนว่าจะหางานทำอะไรยังไง ลองปรึกษากับทางคุณ จนท ของรัฐบาล หน่วยงานด้านแรงงานดูนะคะ หรือไม่ก็หาข้อมูลจากเอเจนซี่ดูว่าเราจำเป็นต้องมีไอ้เจ้า work record book นี้หรือไม่ (ถ้าจำไม่ผิดนะคะ หากต้องการที่จะมาลงทุนทำธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการเอง น่าจะไม่จำเป็นที่จะต้องมี Carteira de Trabalho นะคะ แต่จะเป็นเอกสารในอีกรูปแบบนึง แต่ฟิวส์ไม่แน่ใจเท่าไหร่ค่ะค่ะ ยังไงลองหาข้อมูลดูนะคะสำหรับคนที่สนใจจะมาทำธุรกิจที่บราซิล) ถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็ลองทำไว้ก่อนก็ได้ค่ะไม่เสียหลาย อิอิ


การยื่นขอทำ Carteira de Trabalho 


       กระบวนการการยื่นขอทำ Carteira de Trabalho นั้นก็ไม่ยุ่งยากอะไรเลยค่ะ เพียงแค่เราเตรียมถ่ายสำเนาเอกสารตามรายการข้างล่างนี้ไปอย่างละ 1 ฉบับ (รูปภาพด้านซ้ายมือคือเอดสารตัวจริงนะคะ เริ่มจากซ้ายไปขวา):

เอกสารที่ใช้ยื่นขอ Carteira de Trabalho
       - สำเนาหลักฐานที่อยู่อาศัยในบราซิล (Proof of Address)  
       - สำเนาใบ Certificate เกี่ยวกับการสมัครวีซ่าที่ได้จาก Policia Federal
       - สำเนาใบทะเบียนสมรส ฉบับบราซิล (Marriage Certificate)
       - สำเนาบัตร CPF
       - สำเนา Passport เฉพาะหน้าที่มีข้อมูลของเราและหน้าที่มี Protocol number
       - รูปถ่ายขนาด 1" จำนวน 1 รูป




บัดนัดรับ Certeira de Trabalho ค่ะ
       เมื่อเอกสารครบถ้วนแล้ว (ทั้งตัวจริง และสำเนา) ฟิวส์ก็เดินทางไปที่ Gerência Regional do Trabalho e Emprego em Guarulhos พอไปถึงก็แจ้งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ว่ามาทำ Carteira de Trabalho ให้ชาวต่างชาติ เค้าก็พาไปที่ห้อง นั่งรอคิว พอถึงคิวเราแล้วก็ได้แบบฟอร์มมากรอก (ให้สามีกรอกแทนค่ะ อิอิ) พร้อมยื่นเอกสารทั้งตัวจริงและสำเนาให้ จนท ตรวจสอบ จากนั้นเค้าจะเก็บตัวที่เราทำสำเนาไปพร้อมกับแบบฟอร์มและรูปถ่าย แล้วให้ใบนัดเพื่อมารับ Carteira de Trabalho ค่ะ



       ควรจะลองโทรเช็คดูกับ Local department ดูก่อนนะคะว่าเราสามารถไปทำที่ไหนได้บ้าง เพราะกรณีของฟิวส์ เมืองที่ฟิวส์อยู่มันเล็กมาก และไม่สามารถออก work record book ให้ต่างชาติได้ ทาง จนท ที่นี่เค้าเลยแนะนำให้ไปทำที่สำนักงานในเมือง Guarulhos ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน เนื่องจากเป็น Regional Office ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับออกเวิร์คบุ๊คให้ชาวต่างชาติได้โดยตรงค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรจะลองสอบถามสำนักงานในเมืองที่ตัวเองอยู่ก่อนนะคะ เผื่อเค้าสามารถทำให้ได้ หรือแนะนำที่ที่ใกล้ๆ กับเมืองที่เราอยู่ได้ เราจะได้ไม่เสียเวลาเดินทางมาทำที่ไกลๆ โดยไม่จำเป็น
       หรืออีกช่องทางนึงที่สามารถเช็คข้อมูลของ Regional Office อื่นๆ ได้คือ เวปไซด์ของกระทรวงแรงงาน จาก Link ข้างล่างนะคะ จะมี list ของสถานที่ที่สามารถออกเวิร์คบุ๊คให้ต่างชาติได้ค่ะ http://portal.mte.gov.br/delegacias/sp/gerencia-regional/ 

       เสร็จเรียบร้อยแล้ววว ขั้นตอนไม่เยอะมาก รวดเร็วทันใจ เพียงแต่ต้องใจเย็นๆ รอเจ้าเวิร์คบุ๊คนี้นานหน่อย ประมาณ 2 - 3 อาทิตย์ แล้วแต่ตารางงานเค้าว่าจะนัดเราไปรับเมื่อไหร่ ของฟิวส์รออยู่ 18 วัน บางคนแค่ 2 อาทิตย์ บางคนประมาณ 10 วัน ^^ ... หน้าตาด้านนอก ด้านในของ Carteira de Trabalho ของฟิวส์ค่ะ :)






       เมื่อมี Carteira de Trabalho หรือ work record book มาครอบครอง ทีนี้เราก็สามารถหางานทำได้แล้ว หากพอมี Connection จะลองยื่นสมัครงานดูเอง หรือหางานผ่านเอเจนซี่ก็ได้ทั้งนั้น อาจจะยากหน่อยช่วยแรกๆ แต่อย่าท้อนะคะ โอกาสมันมักจะเข้าหาคนที่มีความพยายาม และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค์เสมอๆ ที่สำคัญ อย่าลืมนะคะ ว่าภาษาโปรตุเกส ซึ่งเป็นภาษาของคนบราซิล สำคัญมาก เพราะคนที่นี่เค้าไม่พูดภาษาอังกฤษกัน ถึงแม้จะบางคนพูดได้ก็ตามที ดังนั้น หากเราต้องการจะทำงาน นอกเหนือจากคุณสมบัติทั่วๆ ไปที่เราต้องมีกัน ก็ควรที่จะเตรียมพร้อมเรื่องภาษาด้วย และถ้าเป็นไปได้ก็อย่าเกี่ยง อย่าเลือกงานมาก โอกาสมันไม่ค่อยมาหา อย่าปล่อยให้หลุดมือนะคะ



   

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตุนเสบียงไทยในเซาเปาโล (Thai Groceries Shopping in SP)

แต่ก่อน เวลาที่บินมาเที่ยวบราซิล ครั้งละสองเดือนๆ เลยไม่ค่อยอะไรมากมายกับความรู้สึกโหยหาอาหารไทย เพราะมาแป๊บๆ แล้วก็กลับ แต่พอได้ย้ายมาอยู่ที่นี่จริง ก็เริ่มหวั่นๆ กระเป๋าเดินทางที่ขนสัมภาระมาจากเมืองไทยส่วนใหญ่ก็มีเสื้อผ้า ของใช้ และของกินแบบเต็มอัตราศึก ถึงขั้นต้องซื้อ extra bagage เพิ่มอีก 1 ใบเลยทีเดียว เนื่องจากกลัวจะอดอยากปากแห้ง คิดถึงอาหารบ้านเรา แต่ปัญหาคือ ต่อให้เราขนมามากมายแค่ไหน ใช้ไปเรื่อยๆ ของก็ต้องมีวันหมด ทีนี้สาวไทยบ้านนาเลยต้องออกไปเสาะหาเสบียงข้าวของไทยมาสต๊อกเพิ่ม

วันนี้ฟิวส์ขอแนะนำแหล่งชอปเสบียงของเหล่าสาวไทยแห่งเมืองเซาเปาโลนะคะ

บรรยากาศย่าน Liberdade ค่ะ
บรรยากาศย่าน Liberdade ค่ะ
ออกจาก Metro สถานี Liberdade ก็จะพบกับบรรยากาศเอเชียอันอบอุ่น


บรรยากาศย่าน Liberdade ค่ะ
Liberdade (ลิ-เบอ-ดา-จิ) หรือชื่อเล่นว่า J-Town 

... ใช่แล้วค่ะ มันคือ Japan Town นั่นเอง คงแปลกใจใช่มั๊ยคะที่ทำไมไม่เรียกว่า China Town ก็เนื่องจากที่บราซิลมีพลเมืองที่เป็นคนญี่ปุ่น (Brazilian-Japanese) เยอะมากๆ อิมมิเกรทมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จึงทำให้ ณ ปัจจุบันบราซิลมีประชากรที่เป็นบราซิเลี่ยนเจแปนนีสเยอะมาก น่าจะรุ่นเจเนอเรชั่น 2 - 3 แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะพูดภาษาญี่ปุ่นกันไม่ได้แล้วละค่ะ กลายเป็นบราซิเลี่ยนกันหมดแล้ว ^.^ ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่มีคนญี่ปุ่น (จีน เกาหลี) อาศัยอยู่มากจึงทำให้ข้าวของ อาหาร หรือแฟชั่นของบราซิลทั่วๆ ไปมีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น เอชียนๆ ปะปนอยู่มากมายเลยทีเดียว จึงทำให้ Liberdade กลายเป็นแหล่งรวมร้านค้า ข้าวของ ร้านอาหารเอเชียทั้งหลายแหล่ไว้ (แต่จะเน้นหนักไปทางข้าวของญี่ปุ่น) ของขายที่นี่มีตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบเลย เรียกได้ว่า มาที่เดียวครบ One stop service ยังไงยังงั้น เอิ้กๆๆๆ

บรรยากาศย่าน Liberdade ค่ะ 

       การเดินทางมา Liberdade หากใครจะมาแนะนำว่าให้ขึ้น Metro มาลงที่สถานี Liberdade ได้เลยค่ะ สะดวกรวดเร็วมาก แต่ถ้าจะขับรถมาก็ดีเช่นกัน เอารถมาเตรียมขนสเบียงกลับ แต่ต้องหาที่จอดรถกันหน่อย เพราะแถวนั้นหาที่จอดรถยากนิดนึง ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปจอดแบบเสียตังค์ในที่ Estacionamento (เป็นธุรกิจที่จอดรถค่ะ) ซึ่งราคาก็ค่อนข้างจะแพงเอาเรื่องอยู่ แต่นานๆ มาทีก็คุ้มเหมือนกันค่ะ ขับรถมาชอปสเบียง ซื้อทีเอาให้คุ้มไปเลยเดือนนึง อิอิ จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาบ่อยๆ 

       แต่ละร้านที่ย่าน J Town จะขายของคล้ายๆ กัน แนะนำว่าให้ลองเดินดูรอบๆ ก่อน ดูราคา ดูคุณภาพ ดูความสดใหม่ (ของของสด เช่น ผัก เนื้อ ลูกชิ้น อะไรประมาณนี้) ดูวันหมดอายุ เซอเวย์ไปเรื่อยๆ ก็สนุกไปอีกแบบ
     
       เวลาเดินผ่านจะเห็นว่าแต่ละร้านคนจะแน่นมาก บางทีฟิวส์ไปวันธรรมดา คนก็ยังตรึม เยอะพอๆ กับไปช่วงเสาร์อาทิตย์ ร้านประจำที่ฟิวส์ชอบไปซื้อเสบียงจะอยู่ใกล้ๆ กับทางออก Metro เลย ชื่อร้าน TOWA เค้ามี พริกแกงไทยแทบจะทุกประเภท กองทัพซอสไทย และของกินจากเมืองไทยเยอะกว่าร้านอื่นๆ ส่วนขนมขบเคี้ยวจะเดินซื้อขนมตามร้านอื่นๆ เราต้องเฉลี่ยๆ กันไปบ้างใช่มั๊ยคะ กระจายรายได้ให้ทั่วถึง อิอิ ของใช้ ส่วนเรื่องราคา แต่จะร้านก็จะพอๆ กัน อาจจะมีต่างกันนิดหน่อย บวกลบไม่ถึง R$1 ถ้าไม่คิดอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะซื้อร้านเดียวเยอะๆ ไปเลย เพราะสะดวกดี แต่ถ้าอยากเดินตะลุย survey ของกิน และเทียบราคา ก็ได้เช่นกันค่ะ สนุกไปอีกแบบ

       ของสดพวกผัก ผลไม้ ของสด และซอสต่างๆ แบบบ้านเราที่หาตาม supermarket ทั่วๆ ไปไม่ค่อยได้ เราสามารถมาหาซื้อได้ที่นี่ค่ะ เช่น ครก อุปกรณ์จิปาฐะคล้ายๆ ร้าน Daiso บ้านเรา ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ดอกกุยช่าย ขิง ข่า เต้าหู้ไข่ พุทรานมสด มะระ ข้าวเหนียว กะปิ น้ำปลา เครื่องตุ๋นยาจีน หมูหยอง กุนเชียง ปูอัด ลูกชิ้นปลา ข้าวเกรียบ ผงชาเย็น ชาเขียวพร้อมดื่มยี่ห้อ ขนมขบเคี้ยว เครื่องเทศต่างๆ ฯลฯ ร่ายเป็นรายตัวไม่หมดแน่ๆ ค่ะ


       เอาไว้ลองดูรูปละกันนะคะ รูปพวกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งนะคะ พอดีฟิวส์เจออะไรก็จะถ่ายเก็บมาไว้ให้ที่บ้านดู พ่อแม่จะได้เลิกห่วง กลัวลูกผอมเพราะอดอยากซักที อิอิ (ส่วนมากฟิวส์จะอัพเดตที่ Facebook น่ะค่ะ แต่ไม่สามารถเอารูปทั้งหมดมาลงใน Blog ได้ มันเยอะเกินไป ^^" ขอลงนิดๆ หน่อยๆ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ก็พอนะคะ) แนะนำว่าถ้ามีเวลาก็ลองเดินเข้า-ออกทุกร้านเลยก็ดีค่ะ สาวไทยแบบเราชอบเดินชอปปิ้งออกกำลังกายกันอยู่แล้ว อิอิ

       ท้ายนี้คอนเฟิร์มค่ะว่าบราซิลก็มีข้าวของไทยค่อนข้างเยอะพอสมควร อาจจะไม่ครบ ตัวเลือกไม่เยอะเหมือนตลาดของไทยในประเทศอื่นๆ เช่นอเมริกา ออสเตรเลีย แต่ก็พอถูไถ แก้ขัด ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราในประเทศบราซิลไม่ขัดสนเรื่องอาหารการกินจนทำให้เกิดโฮมซิคแน่ๆ ค่ะ



แถมค่ะแถม!!

ขอแถมความคิดเห็นและข้อแนะนำส่วนตัว สำหรับผู้ที่กำลังจะย้ายมาอยู่บราซิล ไม่ว่าจะถาวร หรือ ชั่วคราวนะคะ

1) สเบียงของกิน ถ้าเราติดรสชาติอาหารไทยมากๆ แนะนำให้เตรียมตุนพวกผงคนอร์ คนอร์ก้อนรสที่ชอบ แบบที่ใช่มาเยอะๆ เลยค่ะ เพราะผงปรุงรสที่บราซิลบอกตามตรงว่ารสชาติไม่ค่อยถูกปากคนไทยเท่าไหร่ การสั่งซื้อ หรือให้คนส่งของมาให้ทีหลัง ทั้งแพงกว่า ทั้งลำบากกว่า แบกมาเองมากๆ นอกเหนือจากนี้เราพอจะสามารถหาซื้อได้ หรือไม่ก็สามารถอะแด็พได้จากของกิน (ของใช้) ที่หาได้จากท้องถิ่นค่ะ ที่นี่มีของที่มีรสชาติ และกลิ่นคล้ายๆ กันกับอาหารไทยเยอะพอสมควร

2) เตรียมตัวล่วงหน้าในการหัดทำครัว อย่างน้อยเอาขั้นง่ายๆ อาหารแบบธรรมดาสามัญ จานโปรดที่เราชอบ ไม่ก็ของหวาน หรือจานพิเศษ เผื่อไว้สำหรับโชว์ฝีมือให้ครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนๆ ชาวแซมบ้าชิม ... จากประสบการณ์ส่วนตัว ฟิวส์เป็นคนที่ไม่ชอบกินอะไรซ้ำๆ เดิมๆ อยู่เมืองไทย ร้านข้าวราดแกง ร้านอาหารทุกประเภท มีให้เราเลือกเข้าออกเป็นว่าเล่น แทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำกับข้าวกินเองเลยด้วยซ้ำ เพราะค่าครองชีพไม่สูง แถมมีร้านรวงหลายสัญชาติให้เลือกหลากหลาย ผิดกับที่นี่ค่ะ อาหารเค้าจะเน้นแบบเดิมๆ ถ้าไปร้านอาหารทั่วๆ (คล้ายๆ ข้าวราดแกงแบบเดินเลือกตักเอง) ไปจะเป็นแนวชั่งกิโล แต่ละร้านอาหารก็จะเหมือนๆ กัน กินบ่อยๆ ก็เริ่มเป็นโรคเบื่ออาหาร ถ้าจะไปร้านอาหารแนวอื่นๆ ก็ราคาจะสูงนิดนึง นานๆ ทีพอไหว แต่จะฝากท้องกินทุกวัน วันละ 3 มื้อ คงโดนสามีเคอฟิวแน่ๆ อิอิ เพราะฉนั้น จึงควรหัดทำกับข้าวไว้บ้าง นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี เดี๋ยวพอมาอยู่ไปนานๆ ความจำเป็นจะบังคับทำให้เราหัดเข้าครัว ทำครัว ลองทำเมนูได้หลากหลายมากขึ้นเองค่ะ

3) อย่าคาดหวังกับน้ำบ่อหน้ามาก หาข้อมูลไว้ก่อนมากๆ เช่น ของที่เราจำเป็นจะต้องใช้อะไรในชีวิตประจำวัน ของที่เราชอบกินบ่อยๆ ที่ประเทศที่เราจะไปอยู่พอจะมีขายมั๊ย วัตถุดิบที่จะใช้ทำเราพอจะหาได้รึเปล่า หาจากไหนได้บ้าง จริงอยู่ว่าที่นี่อาจจะมีขาย อาจจะหาซื้อได้ แต่ด้วยความที่ต่างประเทศต่างสถานการณ์ ต่างวิถีดำเนินชีวิต ถ้าจะหวังว่าไปถึงค่อยตามหา ค่อยไปตระเวนหาซื้อคงลำบาก และอาจจะทำให้เกิดความท้อตามมา คร่ำครวญกับตัวเองว่าประเทศนี้มันช่างอยู่ยาก อยู่เย็น อะไรประมาณนี้ เพราะฉนั้นเตรียมอะไรๆ ที่คิดว่าตัวเองจำเป็นต้องกิน ต้องใช้ติดมาบ้างส่วนหนึ่ง แล้วพออะไรๆ เข้าที่เข้าทางค่อยวางแผนการอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตในบราซิล จะทำให้เราไม่เครียด ไม่อึดอัดกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากที่เราเคยอยู่ค่ะ

การเตรียมตัวมาดีมีชัยไปกว่าครึ่งนะคะ อยู่ไหนก็แฮปปี้ มีความสุข อิอิ













วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ขนมหวานสัญชาติบราซิล (Doces Brasileiros)

เอ... คนบราซิลเค้ากินขนมอะไรกันบ้าง หน้าตามันเป็นยังไงนะ 

ช่างเป็นโจทย์ที่ยากเหลือเกิน เพราะบรรยายเป็นคำพูด ผ่านตัวหนังสือค่อนข้างยาก ไม่ค่อยเห็นภาพ วันนี้ก็ขอยกรูปภาพขนมเหล่านนี้มาประกอบเป็นตัวช่วยแล้วกันนะคะ จะได้เข้าใจง่ายขึ้น ... ไปลุยกัน ^^




#Brigadeiro - Beijinho - Quindim

ขนมสามอย่างนี้ น่าจะเป็นขนมหวานสุดคลาสสิคในบราซิล ถ้าใครเคยมาบราซิล รับรองได้ว่าจะต้องมีโอกาสได้ชิมอย่างใดอย่างนึง ไม่ก็ชิมครบทั้งสามอย่างแล้วแน่ๆ:

     Brigadeiro (บริ-กา-เด-รุ)  คือชอคโก้บอลลูกเล็กๆ พอดีคำ โรยด้วยเกล็ดชอคโกแลต

     Beijinho (เบ-จิง-ญุ)  คือลูกบอลทำจากนมข้นหวาน มะพร้าวฝอยๆ จะมีกลิ่นหอมๆ ของนมข้น
                               ด้านบนโรยด้วยน้ำตาล ปักกานพลูตรงกลาง

     Quindim (คิง-จิง)  หน้าตาจะคล้ายๆ พุดดิ้งก้อนเล็กๆ ทำจากไข่ เนื้อดึ๋งๆ หนืดๆ


ไม่รู้จะอธิบายเป็นถ้อยคำยังไงให้ลึกซึ้งไปกว่านี้แล้วค่ะ แนะนำว่าถ้ามาเยือนบราซิลเมื่อไหร่ ก็จัดการชิมเลยนะคะ อร่อยทั้ง 3 อย่าง (สำหรับฟิวส์ ชอบ Beijinho มากกกก ถึงมากที่สุด ยกให้เป็นอันดับ 1 เลย อิอิ)

แต่นอกเหนือเจ้า Brigadeiro, Beijinho และ Quindim แล้ว ก็ยังมีขนมประเภทนี้อีกเยอะแยะให้เลือกชิมกันไป รูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กัน แต่ต่างกันที่สีสัน และรูปทรงการปั้น ลองไปหาชิมกันดูนะคะ



#Churros

Churros (ชู-ฮุส) คือขนมทำจากแป้งแล้วเอาไปทอด มีทั้งแบบโรยน้ำตาลไอซิ่ง หรือแบบสอดไส้ ส่วนไส้สำหรับชูฮุส มีหลากหลายรสชาติให้เลือกมากๆ ค่ะ ทั้ง ชอคโกแลต, Doce de Leite, แยมผลไม้รสต่างๆ แต่ส่วนมากจะเป็นรสสตรอเบอรี่)

หรือบางทีอาจกินแบบจิ้มจุ่มในชอคโกแลต ไม่ก็นมข้มหวานก็อร่อยไปอีกแบบค่ะ แล้วแต่ชอบเลย (บางทีมีคอมโบ กินแบบสอดไส้ราดด้วยไซรัป แถมด้วยจิ้มชอคโกแลตข้นๆ โอ้ยอร่อยคูณสาม อ้วนคูณสามด้วยเช่นกันนะคะ อิอิ)

Churros ฟังๆ ดูเหมือนขนมธรรมดาทั่วไป แต่ชูฮุสนี้เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ดังนั้นชูฮุสจึงแพร่หลายไปในประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส เช่นประเทศในแถบละตินอเมริกา โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส และแม้กระทั่งบางประเทศในเอเชียเช่น ฟิลิปปิน และมาเก้า

(ในประเทศไทยเราก็ยังมีขายกับเค้าด้วยนะคะ แอบเห็นในห้างดังแห่งนึง แว้บๆ แถวๆ ฟู้ดคอร์ท แต่ไม่ได้ซื้อมาชิม แอบกลัวอ้วนค่ะ)



#Pudim

Pudim (ปุด-จิ้ง) หรือ พุดดิ้ง (Pudding) เป็นของหวานที่ดูธรรมดา เหมือนไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าสังเกตดีๆ ในบราซิลแทบจะทุกที่ ทุกร้านอาหาร ทุกๆ ร้านเบเกอรี่ จะมีพุดดิ้งขาย บางบ้านหากมีปาร์ตี้ หรือบางทีในวันธรรมดาๆ ก็อาจจะทำพุดดิ้งเตรียมไว้สำหรับเป็นของหวาน ปิดท้ายรายการมื้ออาหารเช่นกัน เป็นของหวานสิ้นคิด คิดไม่ออกว่าจะกินอะไร ก็พุดดิ้งไว้ก่อนเลย (เหมือนๆ กับผัดกระเพราอาหารสิ้นคิดของประเทศเรา ไม่รู้จะกินอะไร คิดไม่ออก บอกไม่ถูก เลือกไม่ได้ ก็ผัดกระเพราไข่ดาวโลด อิอิ) หาซื้อหากินง่าย แถมอร่อยอีกต่างหาก 



#Tapioca

Tapioca (ตา-ปิ-ญอค-ก้า) หน้าตาจะคล้ายๆ กับแพนเค้ก ทำจากแป้งมันสำปะหลัง วิธีทำก็ง่ายๆ ค่ะ คือ ตักแป้ง Tapioca  โรยลงบนกระทะ ที่ตั้งไฟร้อนๆ ซักพักแป้งจะเกาะตัวกันเป็นแผ่น แล้วเราก็จัดการใส่ไส้ที่เราชอบลงไป พับครึ่ง แล้วก็เสริฟ พร้อมรับประทานค่า

จริงๆ แล้ว Tapioca มีทั้งแบบหวานและแบบเค็ม แบบหวานก็จะใส่ไส้ชอคโกแลต นมข้นหวาน หรืออาจจะใส่ผลไม้แล้วตามด้วยชอคโกแลตก็ได้ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ส่วนแบบเค็มก็สามารถใส่ชีส แฮม เนื้อไก่ หรือแล้วแต่ความชอบของแต่ละคนเช่นกันค่ะ
(ฟิวส์ขอบกินแบบหวาน ไส้นมข้น เยิ้มๆ โอ้ย แค่คิดก็น้ำลายไหลแล้วค่า แต่อย่ากินมาก เพราะอ้วนๆๆๆๆ อิอิ)



#Doce de Fios de Ovos

Doce de Fios de Ovos เรียกสั้นๆ ว่า Fios do Ovos หน้าตาละม้ายคล้ายกับฝอยทองบ้านเราเสียนี่กระไร จริงๆ แล้วก็น่าจะเป็นสิ่งเดียวกันนะคะ เนื่องจากฝอยทองบ้านเราได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกสเมื่อครั้งอดีตกาล และที่บราซิลก็เช่นเดียวกัน จึงไม่น่าจะแปลกที่บราซิลก็จะมีขนมฝอยทองเหมือนๆ กับประเทศไทย จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ชิมเจ้า Fios de Ovos ในบราซิลมา รสชาติมันจะไม่ค่อยหวาน (เทียบกับฝอยทอง ณ ไทยแลนด์) ดังนั้นจึงมีน้ำตาลเคลือบอยู่ดานนอกของก้อน Fios de Ovos เพื่อเพิ่มความหวาน และที่สำคัญคือมันขนาดใหญ่มาก พอๆ กับเค้ก 1 ชิ้น กินชิ้นเดียวถึงขั้นจุกค่ะ
ตามร้านเบเกอรี่ทั่วไปไม่ค่อยเห็นว่ามี Fios de Ovos ขาย ตั้งแต่มาเยือนบราซิลสิริรวม 4 ครั้ง และครั้งนี้มาย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่บราซิล ขอบอกค่ะว่าเจอ Fios de Ovos แค่ 3 ครั้งเองค่ะ บังเอิญมากๆ เดี๋ยวจะต้องลองตามหาดูอีกที (เริ่มอยากกิน อิอิ)


#Milho com Manteiga e Sal

Milho (มิ-หลุ) ก็คือข้าวโพด ส่วนของกินอันนี้ก็คือข้าวโพดอบเนยดีๆ นี่เอง แต่ที่บราซิลเค้าจะใส่เกลือให้แทนน้ำตาล แรกๆ ที่กินนี่แทบจะพุ่งพรวดออกจากปาก เพราะคิดไว้ว่ามันต้องหวานมันเหมือนของบ้านเรา ครั้งหลังๆ เราไหวตัวทัน ขอให้คนขายใส่น้ำตาลให้แทน (บางเจ้าเค้าจะไม่มีน้ำตาลติดไว้ ก็ขอเค้าว่าไม่เอาเกลือ ไม่งั้นโรคไตได้ถามหาแน่ๆ เค็มปี๋เลย)


#Pamonha

Pamonha (ปา-โม-ญา) คือขนมข้าวโพดนึ่ง (ทำจากเนื้อข้าวโพดและนม) ลักษณะเนื้อขนมจะคล้ายๆ ขนมกล้วย ขนมตาลบ้านเรา Pamonha ต้องทานตอนร้อนๆ มีทั้งแบบรสหวานและรสเค็ม (แต่ต้องขอภัยเนื่องจากฟิวส์ยังไม่เคยชิมรสเค็มเลยค่ะ ไว้จะหาโอกาสชิมดู) 

Pamonha รสหวาน จะมีความหวานของข้าวโพด กลิ่นหอมๆ ของนม ผสมผสานกันไป ตามรถเข็นที่เค้าขายข้าวโพดต้ม ส่วนใหญ่จะมี Pamonha ขาย แต่ฟิวส์มีโอกาสเดินทางไปทำธุระที่เมือง Cascavel, Paraná (ภาคใต้ของบราซิล) ระหว่างทางจะมีไร่ข้าวโพดกว้างใหญ่มาก ฟิวส์แวะชิม Pamonha จากร้านข้างทาง ความรู้สึกส่วนตัวนะคะ ฟิวส์รู้สึกว่าอร่อยมากๆ อร่อยกว่าที่ซื้อกินในเมืองตามรถเข็นขายข้าวโพดอีก อาจจะเป็นเพราะ ออริจินอล ไม่ก็เป็นของขึ้นชื่อในเมืองนั้นๆ แวะชิมกันไม่พอ มีซื้อติดมือกลับบ้านด้วยอีกหลายมัดเลย :)



#Bolos

Bolo (โบ-ลุ) หรือเค้ก เค้กที่มีหน้าตาหลากหลาย ซึ่งก็คงไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะเค้กค่อนข้างจะเป็นขนมสากล เอาเป็นว่ามาชมตัวอย่างหน้าตาเค้กที่คนบราซิลทั่วๆ ไปนิยมกัน และที่สำคัญมีขายตามร้านเบเกอรี่ทั่วๆ ไปเลยละกันนะคะ (เน้นและย้ำนะคะ ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และหาซื้อได้ทั่วไป)



#Doces e Salgados

ขนมที่พบเห็นบ่อยๆ ในงานเลี้ยง ปาร์ตี้สังสรรค์นอกเหนือจากพุดดิ้ง หรือ เค้ก ส่วนใหญ่จะเป็นฟิงเกอร์ฟู๊ด และขนมชิ้นเล็กๆ เพราะสะดวกต่อการหยิบทาน มีหลากหลายมากๆ แต่ที่เป็นที่นิยมมีประมาณนี้ค่ะ
     Doces (ของหวาน): 


     Salgados (ของคาว):


#Cocada

Cocada (โค-คา-ดะ) คล้ายๆกับ ทอฟฟี่มะพร้าว (หรือคุ้กกี้มะพร้าว) ทำจากมะพร้าวขูดฝอยและนมข้น อบจนกรอบนอกนิดๆ นุ่มในหน่อยๆ กินแล้วละลายในปาก ถ้ากินเยอะระวังเบาหวานขึ้นนะคะ เพราะว่ามันหวานมากๆ 




วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Obtaining CPF

CPF (Cadastro de Pessoas Físicas)

บัตร CPF นี้ ทุกคนควรที่จะมีไว้นะคะ เพราะเจ้า CPF นี้ มีไว้เพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เปิดบัญชีธนาคาร ทำบัตรเครดิต และอื่นๆ ซึ่งขั้นตอนการทำ CPF ก็ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องใช้เอกสารอะไรให้วุ่นวายเลย และที่สำคัญสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องง้อ รอผลวีซ่าค่าาา

ก่อนอื่น เอาไปที่ธนาคาร Caixa หรือ ไปรษณีย์ Sedex เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมในการขอ CPF เค้าจะให้ใบเสร็จ และ รหัส Barcode (หลังใบเสร็จ) มา เพื่อให้เอาไปยืนยันกับ จนท ที่ Receita Federal เพื่อขอรับบัตร CPF ค่ะ อ้อ ... อย่าลืมติดเอกสารอะไรก็ได้ที่มีชื่อของพ่อแม่เราเป็นภาษาอังกฤษไปด้วยนะคะ ฟิวส์ใช้ทะบียนสมรสที่ issued จาก สถานทูตบราซิลในประเทศไทยค่ะ ไม่ซีเรียส จะใช้เอกสารอะไรก็ได้ที่มีชื่อพ่อแม่ของเราเป็นภาษาอังกฤษ เพราะพนักงานเค้าแค่ต้องการ Proof ว่าชื่อพ่อแม่เราสะกดได้ถูกต้องไม่ผิดพลาดแค่นั้นเองค่ะ 

(หมายเหตุ ตอนแรกไปที่แบงค์ก่่อน แต่พอเห็นคิวแล้วขอบายค่ะ ยาวล้นออกมานอกธนาคารเลย ฟิวส์เลยแว้บไปจ่ายค่าธรรมเนียมที่ Sedex เอา เพราะว่าสะดวกกว่ามาก ไม่ต้องต่อคิวไม่ยาวด้วย อิอิ)




หลังจากที่เราเสียทรัพย์ชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินทางไปยัง Receita Federal แจ้ง จนทที่เคาท์เตอร์ ว่ามาทำ CPF สำหรับต่างชาติ เค้าจะให้บัตรคิวมา รอเมื่อถึงคิว ก็เอา Passport เรายื่นให้ จนท ทำเรื่อง ปุ๊บปั๊บ ไม่ถึง 5 นาที ก็ได้ CPF เราแล้วค่ะ ของฟิวส์เค้าปริ้นท์ใส่ A4 ให้ ใจดีด้วย ให้มาตั้ง 3 ชุด แล้วบอกว่า เอาไปตัดแล้วหาซองใส่ หุหุ หน้าตามันเป็นแบบนี้ค่าา (แอบคิดในใจ ทำไมเราไม่ได้เป็นการ์ดสีฟ้าแบบคนอื่นหว่า 555)





วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Churrasco at Home

       วันนี้ได้ฤกษ์งามยามดี ที่บ้านทำ Churrasco หรือ BBQ สไตล์บราซิเลี่ยนกัน เนื่องจากว่าเป็นวันหยุด (Labor Day) ... บางคนคงเคยได้ยิน แล้วอาจสงสัยว่ามันเป็นยังไงนะ ไอ้เจ้า Churrasco ของคนบราซิล ทำไม๊ ทำไมคนที่เคยได้ลิ้มรส Churrasco ที่บราซิลแล้ว ถึงได้ติดอกติดใจกันทุกราย (วันนี้ขอไม่เป็นทางการนะคะ เพราะว่าทำกินกันเองที่บ้าน เครื่องอาจจะไม่ครบ อิอิ)



       Brazilian Churrasco (ออกเสียงว่า ชู-ฮัส-คุ) คือบาบีคิวเนื้อ ปิ้งๆ ย่างๆ สไตล์บราซิล โดยจะมีลักษณะเด่นตรงที่ เค้าจะใช้เหล็กใหญ่ๆ ยาวๆ เสียบเนื้อ แล้วเอาไปย่างบนเตา ส่วนเนื้อที่นิยมเอามาทำ Churrasco เค้าจะไม่ค่อยหมัก หรือปรุงอะไรมากมาย เนื่องจากว่าเนื้อที่บราซิลมีความหวานนุ่มอร่อยลิ้นอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะโรยเกลือนิดหน่อยแล้วก็เอาไปย่างเลย (ถ้าเป็นบ้านเรานะ ต้องหมักนิด เสริฟพร้อมน้ำจิ้มแจ่วอีกซักหน่อย แก้เลี่ยน อิอิ)

       Churrasco ไม่ได้มีแค่เนื้อวัวนะจะบอกให้ นอกจากเนื้อวัวส่วนต่างๆ แล้วยังมีปีกไก่ น่องไก่ หัวใจไก่ เนื้อหมู และไส้กรอก บางที่ โดยเฉพาะร้านอาหาร เค้าจะมีสับปะรดย่างซินามอนด้วยนะเออ



       เนื้อที่นิยมนำมาทำ Churrasco ก็มีหลายส่วน แต่ละส่วนจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แต่ส่วนที่ได้รับความนิยมมากๆ คือ Picanha (ปิคางญ่า) ส่วนอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กับ ปิคางญ่า เช่น Fraldinha, File Mignon, Contra File ... และอีกหลายหลายส่วนที่คนที่นี่นิยมทานกัน แต่จำชื่อไม่ได้ (แง่ว!!) เอาเป็นว่า ดูรูปเลยละกัน
Picanha
Fraldinha
File Mignon
Contra File 

       ส่วน Churrasco นั้นถือได้ว่าเป็น 1 ในอาหารที่ต้องทานให้ได้ถ้ามีโอกาสมาเยือนบราซิล คนบราซิลเค้าชอบปาร์ตี้สังสรรค์กัน แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวเค้าจะมารวมตัวกัน (ส่วนมากวันอาทิตย์) เพื่อพบปะสังสรรค์ ทำ Churrasco กินร่วมกัน (คงเหมือนๆ คนไทยเราที่เมื่อถึงวันสำคัญอะไรก็ตาม จะกลับบ้านไปรวมตัวกัน พบปะญาติพี่น้อง ทำกับข้าวกินด้วยกัน) เพราะงั้นเวลาเดินไปไหนผ่านบ้านไหนก็จะได้กลิ่นเนื้อย่างมายั่วน้ำลาย ทำท้องเราร้องเป็นว่าเล่น


       นอกเหนือจากเนื้อย่างแล้ว ในปาร์ตี้ส่วนใหญ่ ก็จะมีขนมปังหลากหลายสูตร สลัด เฟรนช์ฟราย ถั่วแกล้มเบียร์ ของทอดๆ พร้อมเครื่องดื่มแทบจะทุกประเภททั้งมีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ (แต่ Churrasco จะเริ่ดมากถ้ากินไปจิบเบียร์สด หรือที่คนที่นี่เรียกว่า Chopp ไป อิอิ) และตบท้ายด้วยของหวาน ขนมเค้ก ... แค่นี้ก็กินกันจนพุงกาง อิ่มไปอีกหลายมื้อเลยทีเดียว